การตลาดง่ายๆ ฉบับแม่ค้าออนไลน์มือใหม่!

หลายคนมองว่า “แม่ค้าออนไลน์” คือช่องทางที่ง่ายที่สุด ที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเองและได้เป็นนายตัวเองเสียที แต่ก็น่าคิดว่า ในเมื่อมันมองดูง่าย ทำไมบางคนทำแล้วรวย ทำไมบางคนทำแล้วเจ๊ง …” ที่ผ่านมา หลายคนมักตั้งต้นด้วยคำถามที่ว่า “ถ้าอยากขายของออนไลน์ ต้องเริ่มจากอะไร ? ” แล้ว “ถ้าอยากขายดีล่ะ ต้องทำยังไง ? ” คำตอบอยู่ตรงนี้…

“แม่ค้าออนไลน์” เป็นชื่ออาชีพที่ถูกบัญญัติขึ้นมาในบ้านเรา ยุคที่สัญญาณอินเทอร์เนต

และราคาโทรศัพท์มือถือแข่งกันดัมพ์ราคาลงเพื่อเรียกลูกค้า ผู้คนแทบทุกระดับ รู้จักการใช้อินเทอร์เนตในการเชื่อมโยงกันและกัน และใช้เป็นช่องทางในการสร้างรายได้ตามความถนัด แน่นอนว่า การขายของ เป็นเรื่องลำดับต้น ๆ ที่คนจะนึกถึง

หลายคนมองว่า “แม่ค้าออนไลน์” คือช่องทางที่ง่ายที่สุด ที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเองและได้เป็นนายตัวเองเสียที แต่ก็น่าคิดว่า ในเมื่อมันมองดูง่าย ทำไมบางคนทำแล้วรวย ทำไมบางคนทำแล้วเจ๊ง … นั่นสิ น่าคิดนะ?

มาค่ะ เดี๋ยวจะลองเรียบเรียงให้ฟังตามประสบการณ์ตรงนะคะ

เลือก “อะไร” ไป “ขาย”

การเลือกสินค้าในครั้งแรกเป็นปัจจัยสำคัญในการทำตลาด เพราะผู้ขายจะต้องนำเสนอสินค้านี้สู่โลกออนไลน์ ซึ่งในเบื้องต้นนั้นผู้ขายจำเป็นที่สุดที่จะต้องรู้จักและเข้าใจในสินค้าของตนเอง

ที่ผ่านมา หลายคนมักตั้งต้นด้วยคำถามที่ว่า
” ถ้าอยากขายของออนไลน์ ต้องเริ่มจากอะไร ? ”
” แล้วถ้าอยากขายดีล่ะ ต้องทำยังไง ”

ตอบ :ทุกอย่าง ต้องเริ่มจาก ” ตัวเอง ” นี่แหละก่อนเลย
เริ่มจากถ้าจะ ” ขาย ” ก็ต้องเริ่มด้วย…

สำรวจความชอบ ความสนใจ ความรัก ความถนัดของตัวเองนี่ล่ะว่าคือเรื่องอะไร แล้วเรื่องนั้นแหละ จะทำเงินให้เรา

เช่น ถ้าตัวเองเป็นคนรัก ” เส้นผม ” มาก แต่มีปัญหาเรื่องของผมมาตลอด ทำให้สนใจ ศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ มากมาย เพื่อเลือกหาผลิตภัณฑ์ ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาผม จนสามารถเปรียบเทียบ ข้อดี ข้อด้อยของแต่ละสินค้า จนสามารถเลือกสินค้า ที่ตัวเองมั่นใจว่าดีที่สุด มานำเสนอขายได้
จุดแข็งของแม่ค้าแนวนี้คือ ข้อมูลจะแน่น ตอบคำถามได้ทุกมิติ ไม่จนมุม ทั้งการนำเสนอและการแก้ปัญหาให้ลูกค้า สร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจ ว่าเราสามารถเป็นที่พึ่งได้ ลูกค้าจะติดตาม ทำให้มีฐานลูกค้าในระยะยาว

เลือกตัวสินค้าที่เราสนใจ โดยเริ่มจากกิน ใช้ กับตัวเองให้มั่นใจก่อน

หลายคนเปิดตัวขาย เพียงเพราะเห็นคนอื่นขายดี กำไรดี การตอบแทน ด้านอื่น ๆ ดี แต่ไม่เคยลองกินใช้สินค้าเลยว่าคุณภาพดีจริงหรือเปล่า การขายแบบนี้ มักจะไปไม่ได้นาน เพราะเมื่อกระแสเบาลง แม่ค้ามือใหม่ มักจะถอยจากตลาดไม่ทัน เพราะเข้าทีหลัง สต๊อกมาเยอะ และลูกค้าไม่ติดกับตัวสินค้า ไม่เกิดการซื้อซ้ำ แถมความน่าเชื่อถือในตัวแม่ค้า ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ไม่นานก็จะท้อ จนเลิกขายไป การทดลองกินใช้สินค้าจนมั่นใจ จะทำให้รู้ถึงทุกกระบวนการในการทำงาน ของตัวสินค้าแต่ละระยะ ทำให้สามารถขาย และตอบลูกค้าได้ในทุกรายละเอียด

มองกลุ่มเป้าหมายให้เป็น มองหาลูกค้าให้เจอ ว่าเราจะขายใคร

เพราะพื้นที่ในโลกออนไลน์ช่างกว้างขวางไร้ขอบเขต ตั้งแต่ในประเทศยันต่างประเทศ ดังนั้นผู้ขายจำเป็นที่สุด ที่จะต้องรู้ว่า “เราจะขายใคร”
ต้องอ่านให้ขาด ว่าสินค้านี้ ใครจะเป็นลูกค้าของเราบ้าง เพศอะไร ช่วงอายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร รายได้ประมาณไหน ทำกิจกรรมอะไร ใช้ชีวิตอยู่แถวไหน เพื่อกำหนดการเข้าหาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพราะอย่าลืมว่า แม้ว่าเราจะมีสินค้าดีแค่ไหน แต่ขายผิดที่ ผิดคน เราไม่มีทางขายได้ เหมือนเอาหวีไปขายคนหัวล้าน แบบนั้นเลย

ช่องทางการขาย

แน่นอนว่าโลกวันนี้มี “แอปพลิเคชัน” มากมายให้ใช้ การเลือกช่องทางารขายก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าที่ของเราด้วย

ในเบื้องต้นเลือกช่องทางออนไลน์ที่เราถนัดก่อนเลย  เพราะแต่ละช่องทาง การนำเสนอการขายจะไม่เหมือนกัน ตรงนี้ต้องดูจากความถนัดของตัวเองเป็นหลัก ว่าปกติ เราเล่นช่องทางไหนเป็นหลัก เอาช่องทางนั้นเป็นการเปิดตัวดีที่สุด

ถ้าถนัดเฟสบุ๊ค ต้องเข้าใจธรรมชาติของเฟสบุ๊กด้วย ว่าเน้นการปฏิสัมพันธ์ การตอบโต้ ความสัมพันธ์ของคนสู่คน เพราะฉะนั้น การนำเสนอ เนื้อหาจะสำคัญ เขียนคอนเทนต์ยาวได้ มี story ได้ ภาพถ่ายสะดุดตาอย่างเป็นธรรมชาติ สร้างตัวตนไปเรื่อยๆ บางคนอาจจะถนัดไลฟ์สด ขายของ ซึ่งขอแนะนำว่า การจะไลฟ์สดได้ อย่างน้อยผู้ขายเองต้องมีแฟนเพจจำนวนหนึ่งแล้ว และสมีช่องทางการไปแชร์ไลฟ์หลายๆที่ เช่น ตามกรุ๊ปต่างๆ ด้วย ไม่อย่างนั้นเราอาจจะไลฟ์คุยกับตัวเองแทน ถ้าเลือกขายบนไอจี คอนเทนท์ไม่ต้องยาว ไม่ต้องเยอะ เน้นรูปสวยๆ นำเสนอต่อเนื่อง ร้อยเรียงการขายอย่างสม่ำเสมอด้วยภาพ

นแต่ละช่องทางการขาย ถ้าไม่เข้าใจการนำเสนอที่สอดคล้องกับพื้นที่ ก็มีสิทธิ์ที่จะทำให้สินค้าดี ๆ ต้องแป้ก ไม่เฉิดฉายได้เหมือนกัน

“ลงทุนให้น้อย ลงมือทำให้มาก”

การลงทุนจะว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็ใช่ จะว่าเป็นเรื่องเล็กก็ใช่ ทั้งนี้ขึ้นกับวิธีบริหารการขาย แต่ในเบื้องตั้นสำหรับมือใหม่ให้คิดไว้เลยว่า “ยังมือใหม่ อย่าออกตัวแรงเรื่องการลงทุน” แม้จะมีเงินพอก็ตาม ลงทุนให้น้อย ลงมือทำให้มาก พยายามสร้างยอดขายให้เกิดขึ้นก่อน เพราะมียอดขาย แต่ของไม่พอ เครียดน้อยกว่า การมียอดของ (สต๊อค) แต่ไม่มียอดขาย โดยเฉพาะคนทุนน้อย และไม่ใช่เงินเย็น เพราะเมื่อเงินจม ไม่เกิดรายได้ กำลังใจจะหมด ความเครียดจะมา คนเครียดขายของ โดยเฉพาะการขายออนไลน์ ไม่มีทางขายดี เพราะทุกคอนเทนท์และภาพที่นำเสนอจะแป้ก มากกว่าปัง

เปิดการขายแบบผู้ให้ ก่อนอยากได้ยอดซื้อ

เมื่อเริ่มโพสต์ที่ไหนก็ตาม ให้คิดเสมอว่า เรามานำเสนอสิ่งดีๆ (สินค้า) เพื่อแบ่งปันให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดีๆ เหมือนที่เราประทับใจ ทุกการสื่อสารเน้นเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านไหนก็ตาม ต้องก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้รับสารให้มากที่สุด จุดนี้เราจะได้ความไว้วางใจ คนรับสารไม่รู้สึกถูกกดดัน หรือยัดเยียด อาจใช้เวลาในการสร้างยอดขายหน่อย แต่มั่นใจได้เลยว่ายั่งยืน

มีความสม่ำเสมอในการนำเสนอ

แม้การขายออนไลน์จะไม่มีนายหรือกรอบของเวลา เราก็ต้องมีวินัย เมื่อเริ่มเปิดร้านแล้ว อย่าทำตามอารมณ์  แต่ต้องโพสต์อย่างสม่ำเสมอ เหมือนร้านที่พร้อมขายตลอดเวลา ร้านที่โพสต์บ้าง ไม่โพสต์บ้าง ตามใจฉัน ลูกค้าออนไลน์จะไม่ชอบ ต่อให้สินค้าดีแค่ไหน คนจะหนีไปอุดหนุนร้านที่เปิดขายแบบสม่ำเสมอมากกว่า ตายกันจากจุดนี้ก็เยอะ

ดูแลลูกค้าเก่าให้ดีที่สุด

เมื่อขายได้แล้ว มีลูกค้าเข้ามาซื้อต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่ลืมไม่ได้เลย การดูแลลูกค้า หลายคนมัวแต่โฟกัสเอาใจใส่ลูกค้าใหม่ ๆ จนลืมดูแลลูกค้าเก่าที่สร้างรายได้สม่ำเสมอให้เราได้ ถ้าเราดูแลเค้าอย่างดี อย่าลืมว่า การหาลูกค้าใหม่ เหนื่อยกว่าการดูแลลูกค้าเก่าที่ยินดีจะซื้อซ้ำกับเรามาก

อย่าลืมสร้างโปรโมชั่นกระตุ้นยอด

เพื่อให้มีกิจกรรมระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ การมีโปรโมชั่นเป็นจุดสำคัญในการสร้างความสนใจในตัวสินค้า กระตุ้นยอดขายได้ดี ยิ่งหากมีผู้ซื้อเข้ามา ก็ยิ่งเป็นการทำให้ผู้ที่ยังไม่ซื้อมีโอกาสตัดสินใจซื้อได้ง่ายและรวดร็วมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าเราใช้กลยุทธ์ “ของมีจำนวนจำกัด”

การทำบัญชีและวินัยทางการเงิน

เรื่องเงินเรื่องใหญ่ จะลงทุนมากหรือลุงทุนน้อย ก็ต้องรู้จักการทำบัญชี แม้ค้าออนไลน์หลายคนไม่เคยทำบัญชีต้นทุนกำไรอย่างละเอียด จุดนี้จะทำให้เรามองภาพไกลไม่ออก วางแผนไม่ได้ กิจการไม่โต เพราะไม่จัดสรรกำไรเข้าไปเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการ ยิ่งขาย ยิ่งขาดทุน ไม่เห็นเงิน ทั้งที่ขายดี นี่ก็พาให้ตายได้เหมือนกัน การทำบัญชี นอกจากจะทำให้เรามองเห็นตัวเลขยอดขาย เงินทุน กำไรแล้ว อีกสิ่งที่เราจะได้เห็นคือ ช่วงเวลาของการขาย ว่าช่วงไหนที่สินค้าใดขายได้ดีกว่ากัน ทำให้เราสามารถวางตลาดล่วงหน้าได้

แม่ค้าออนไลน์จงระวัง

  1. ภาพลักษณ์แม่ค้าและหน้าร้าน เพราะร้านค้าออนไลน์ต้องใช้ “ภาพลักษณ์” เป็นหลักในการนำเสนอสินค้าแก่ลูกค้า ดังนั้นการสื่อสารกับลูกค้าต้องมีความชัดเจนอย่างที่สุด อย่าให้ลูกค้าได้มา “อินบ็อกซ์” ด่า หรือมีบทสนทนายาวเหยียดไปแชร์ด่าในโลกออนไลน์ ให้คนแชร์เรื่องดีๆ ไปจะดีกว่าเนอะ
  2. ตรงปก”ด้วยค่ะ  ภาพที่ขายอย่างสวย ส่งมาเป็นของอีกอย่างนี่เป็นใครก็ไม่โอเค แบบนี้ไม่เรียกผู้ขายของออนไลน์นะคะ เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน ผิดกฎหมายค่ะ
  3. ข้อกำหนด ข้อแม้ รายละเอียดการซื้อ ตอบคำถามให้เคลียร์ ระบุข้อแม้และรายละเอียดให้ชัด ส่งของภายในกี่วัน
  4. การรับผิดชอบต่อสินค้า หลายคนจะมีมาตรการการรับผิดชอบสินค้า ซึ่งจุดนี้อยู่ที่ผู้ขายสินค้าต้องเลือกผู้จัดส่งให้ดี เพราะนี่คือความไว้ใจระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ เนื่องจากเวลาผู้ซื้อไม่มีโอกาสเห็นสินค้าจริงก่อนส่ง

เอาจริง ๆ การค้าขาย ไม่ว่าจะออนไลน์ หรือออฟไลน์ ทุกอย่างล้วนใช้ใจ วินัย ความอดทน และความสม่ำเสมอทั้งสิ้น ออนไลน์ เป็นเพียงช่องทางในยุคใหม่ที่เราต้องปรับตัวบ้างเท่านั้น ลองมองให้ชัดจะพบเลยว่า ” ใจ ” สำคัญยิ่งกว่าเงินลงทุนก้อนโตซะอีก เพราะหลายคนมีเงินลงทุน แต่ไปไม่ตลอดรอดฝั่ง เพราะถอดใจ ล่มกลางทางเพราะขาดความมุ่งมั่น ความเข้าใจ และความสม่ำเสมอ

แต่ปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือ การเรียนรู้ด้านการตลาด มองสินค้าของตัวเองให้ชัด มองลูกค้าให้ชัด และมีแผนการตลาดที่ชัดเจน สม่ำเสมอ สร้างความผูกพันระหว่างลูกค้ากับแม่ค้า ซึ่งจะต่อยอดให้สามารถสร้างสินค้าตัวใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

มีแม่ค้าออนไลน์มากมาย ที่ล้มเหลวจากการทำงานด้านอื่น มาเริ่มต้นขายออนไลน์ด้วยสองมือเปล่า ๆ ด้วยการหาออร์เดอร์แล้วรับมัดจำลูกค้า ไปเบิกของมาขาย สะสมกำไรมาทำทุน จนร่ำรวยก็เพราะมี ” ใจ ” ที่จะทำให้มันสำเร็จนี่แหละ

Related Posts
This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.