ทำยังไงดี? กับภาษี(ยุ่งๆ)ของฟรีแลนซ์ อัพเดทปี 61

สวัสดีปีใหม่ ชาวฟรีแลนซ์ของ Fastwork ทุกคน

    ต้นปีแบบนี้เรื่องยุ่งๆ ของชาวฟรีแลนซ์ที่มีเงินได้(มากกก)ทุกคน คงไม่พ้นเรื่องภาษีสินะ! วันนี้ Fastwork จะมาตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องภาษีที่ฟรีแลนซ์ต้องรู้ เพราะมักจะมีคำถามมากมายว่า เป็นฟรีแลนซ์ต้องเสียภาษีไหม?ต้องเสียเท่าไหร่? คิดยังไง? เสียภาษีได้ยังไงบ้าง? นอกจากนี้ถ้าเป็นทั้งฟรีแลนซ์และพนักงานประจำไปด้วยจะเสียภาษี 2 เท่าเลยหรือเปล่า? เรามาเคลียร์ข้อข้องใจไปทีละข้อกันเลยดีกว่า

ฟรีแลนซ์ต้องเสียภาษีไหม?

    “ฟรีแลนซ์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย เนื่องจากมีเงินได้” ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. ภาษีบุคคลธรรมดา
  2. ภาษีนิติบุคคล

    ซึ่งฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ในเว็บ Fastwork ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เงินค่าจ้างที่ได้รับมานั้นจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

มีรายได้เท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี?

    ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ต่อปีขึ้นไปต้องเสียภาษี หรือคิดง่ายๆเป็นตัวเลขกลมๆว่า ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 26,000 บาทต่อเดือนไม่ต้องเสียภาษี แต่!! ก็ต้องยื่นภาษีนะคะในกรณีที่เป็นผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนมากกว่า 10,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินได้ประเภทอื่นรวมเกิน 60,000 บาทต่อปี

    ถ้าเข้าเกณฑ์เหล่านี้แล้ว ไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องยื่นแบบภาษีนะคะ หากไม่ยื่นแล้วกรมสรรพากรตรวจสอบเจอภายหลัง จะต้องเสียค่าปรับอาญาและเงินเพิ่มนะคะ ดังนั้นแนะนำให้ทำการกฎหมายดีที่สุดค่ะ

แล้วเงินได้สุทธินั้นมาจากอะไรบ้าง? คำนวณยังไง?

    เงินได้สุทธินั้นเป็นเงินได้หลังจากที่มีการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนออกจากเงินได้แล้ว ซึ่งสามารถนำเงินได้สุทธิไปเทียบตารางอัตราภาษีที่ต้องเสียภาษีได้เลยซึ่งการคำนวณหาเงินได้สุทธิ จะใช้สูตรการคำนวณดังนี้

เมื่อได้เงินได้สุทธิแล้ว ก็นำมาเทียบกับตารางอัตราภาษี ได้เลยว่าต้องเสียภาษีในอัตราเท่าไหร่

เอ๊ะ! แล้วเงินได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนคืออะไร เอามาจากไหนล่ะ?

    ก่อนที่จะนำตัวเลขมาใส่ในสูตรคำนวณเงินได้สุทธิ เราจำเป็นต้องทราบก่อนว่าแต่ละอย่างคืออะไรและเอามาจากไหน ชาวฟรีแลนซ์ตั้งสติและมาเริ่มไปทีละตัวกันเลย

1. เงินได้

เงินได้มีทั้งหมด 8 ประเภท เงินได้ของฟรีแลนซ์จัดอยู่ประเภทไหนและต้องเสียภาษียังไง?

    ต้องบอกก่อนว่าเงินได้ของฟรีแลนซ์สามารถจัดอยู่ได้ในหลายประเภทแล้วแต่ลักษณะงานที่ฟรีแลนซ์ทำที่จำเป็นต้องทราบประเภทเงินได้ เนื่องจากว่าเงินได้แต่ละประเภทจะนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นไปดูกันว่าฟรีแลนซ์แต่ละท่านมีเงินได้อยู่ในประเภทไหน

– เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง

– เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า โบนัส ฟรีแลนซ์ที่ให้บริการ งานเขียน Content, งานออกแบบกราฟิก รีวิวสินค้า และ ตัดต่อ VDO ซึ่งรับงานจากผู้ว่าจ้างครั้งคราว รับมาเป็นรายครั้ง จะเข้าเงื่อนไขข้อนี้ค่ะ

– เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่ เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์ ฟรีแลนซ์ที่ได้รับค่าลิขสิทธิ์จากการเขียนหนังสือ รายได้ก็จะจัดอยู่ในข้อนี้ค่ะ

– เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรต่างๆ

– เงินได้ประเภทที่ 5 ได้แก่ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ เช่น ยานพาหนะ ที่ดินอาคาร สำนักงาน

– เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ *ฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองอยู่ประเภทนี้ แต่ความจริงแล้วฟรีแลนซ์ที่จะมีเงินได้อยู่ประเภทนี้ได้ ต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพในการทำงาน เช่น หมวดบัญชี /การแพทย์ ที่ใช้ต้องใบประกอบโรคศิลป์ในการทำงาน เป็นต้น

– เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น ผลิตตามต้นแบบของลูกค้า(จ้างทำของ) โดยเข้าเงื่อนไขว่า ค่าจ้างเหมารวมทั้งค่าแรง + ค่าของ + เครื่องมือการผลิต ก็จะเข้าเงื่อนไขนี้ค่ะ

– เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ *ฟรีแลนซ์ท่านใดขายสินค้าออนไลน์หรือมีเงินได้ที่ไม่ตรงกับประเภทใดใน 1-7 เลย ก็จะเข้าข้อนี้ค่ะ

 

2. ค่าใช้จ่าย

    ค่าใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับหักเป็นต้นทุนในการทำงาน การหักค่าใช้จ่ายจะหักได้ไม่เท่ากัน ซึ่งจะหักได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ เนื่องจากเงินได้แต่ละประเภทมีทุนของการทำงาน หรือค่าใช้จ่ายในการทำมาหาได้ ไม่เท่ากัน

    เมื่อทราบแล้วว่าตัวเองมีเงินได้อยู่ประเภทไหนบ้าง มาดูกันว่าเงินได้แต่ละประเภทจะหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ และหักได้แบบไหนบ้าง

การหักค่าใช้จ่ายจะหักได้ 2 แบบ คือ

     1. หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา : เป็นการหักในอัตราที่ตายตัว ไม่ต้องใช้หลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ซึ่งง่ายสำหรับชาวฟรีแลนซ์มาก ทาง Fastwork จึงขอแนะนำวิธีนี้ค่ะ

     2. หักค่าใช้จ่ายตามจริง : เป็นการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง โดยต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายด้วย เรียกว่าเก็บทุกบิลใบเสร็จตั้งแต่ต้นปียันท้ายปีเลยทีเดียว ซึ่งจะสามารถทำได้กับเงินได้ประเภทที่ 5,6,7 และ 8 ตามตารางอัตราการหักค่าใช้จ่าย (Fastwork จะไม่ขอลงรายละเอียดการหักค่าใช้จ่ายประเภทนี้)

อัตราการหักค่าใช้จ่าย

* หากมีเงินได้ทั้งประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำทั้ง 2 ประเภทรวมกันแต่หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท

** ประเภทที่ 5 อัตราการหักค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับประเภททรัพย์สินที่ให้เช่า

*** ประเภทที่ 6 ประกอบโรคศิลปะ หักแบบเหมาได้ 60% ส่วน  วิชากฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม หักแบบเหมาได้ 30%

ศึกษาเพิ่มเติม  http://www.rd.go.th/publish/556.0.html

 

3. ค่าลดหย่อน

ชาวฟรีแลนซ์มีสิทธิลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง ?

เราแยกตารางการลดหย่อนมาให้ ดังนี้

รายการค่าลดหย่อนอื่นๆเพิ่มเติมดูได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/557.0.html

    รายการมากมายขนาดนี้เอาเป็นว่าค่าลดหย่อนที่ทุกคนต้องนำไปคำนวณ คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท แต่ใครมีคู่แล้วก็จะได้สิทธิเพิ่ม ส่วนค่าลดหย่อนอื่นๆ ดูรายละเอียดตามตารางด้านบนได้เลย หลังจากนำเงินได้ มาหักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อนแล้ว ทีนี้ก็นำเงินได้สุทธิ ไปเทียบกับตารางอัตราภาษีด้านล่างนี้ เพื่อจะได้ทราบว่าเราต้องเสียอัตราภาษีเท่าไหร่นั่นเองค่ะ

 

อัตราภาษี

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2560 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ.2561 เป็นต้นไป

    เมื่อทราบสูตรคำนวณภาษีและทราบแล้วว่า เงินได้สุทธิ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน เอามาจากไหน มาดูรายละเอียดอื่นๆที่สำคัญที่ฟรีแลนซ์จำเป็นต้องรู้เพิ่มเติม อย่างเช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

การถูกหัก  ณ ที่จ่ายจะทำยังไงได้บ้าง นำมาคำนวณตอนไหน ?

    ส่วนใหญ่นายจ้างที่เป็นนิติบุคคลหรือบริษัท มักจะหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว 3% และนำไปยื่นกับกรมสรรพากร หมายความว่าเราได้เสียภาษีไปแล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้นจะบอกกับกรมสรรพากรว่า เราได้เสียภาษีไปแล้วส่วนหนึ่งจากการถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย เราต้องมีเอกสารยืนยัน ซึ่งเอกสารนี้เป็นเอกสารที่ผู้ว่าจ้างจะต้องส่งให้เราโดยตรง เรียกว่าหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจะทำออกมาเป็น 3 ฉบับ ให้เรา 2 ฉบับ และผู้ว่าจ้างเก็บสำเนาไว้ 1 ฉบับแล้วนำส่งภาษีต่อกรมสรรพากรเอง หากนายจ้างไม่ยื่นเอกสารก็จะมีความผิดนะคะ
สำหรับฟรีแลนซ์ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็นำเอกสารหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายที่ผู้ว่าจ้างส่งมาให้ ยื่นแสดงต่อกรมสรรพากรเพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นแบบภาษีกับสรรพากรว่าได้ทยอยชำระภาษีในระหว่างปี ในรูปแบบของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งมีโอกาสได้รับคืนเงินภาษีด้วยนะ กรณีชำระภาษีเกินก็เตรียมเอกสารไปแจ้งกรมสรรพากร เรียกว่า ขอคืนภาษี

*ผู้ว่าจ้างในที่นี้คือคนที่ติดต่อว่าจ้างฟรีแลนซ์ ไม่ใช่  Fastwork นะคะ

**การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้ว่าจ้างจะต้องออกให้ทุกครั้งที่มีการชำระเงินและหักภาษีไว้

***กรณียื่นแบบออนไลน์ ฟรีแลนซ์ก็กรอกข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามรายละเอียดบนหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ผู้ว่าจ้างส่งให้ และเก็บเอกสารตัวจริงไว้เป็นหลักฐานหากกรมสรรพากรมีการเรียกเก็บเอกสารเพิ่มเติม

การคำนวณเงินได้สุทธิ และภาษี หากยัง งงๆกันอยู่ไปคำนวณพร้อมๆกับกรณีตัวอย่างเลย

ก่อนเริ่มอย่าลืมสูตรนี้นะคะ

 

 ตัวอย่างที่ 1 นายประยุทธ์ เป็นฟรีแลนซ์และพนักงานประจำ

    นายประยุทธ์ (โสด) เป็นทั้งมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์ เงินเดือน 25,000 บาท ถูกหักประกันสังคมเดือนละ 750 บาท และมีรายได้จากการเขียน content อีก 5,000  บาท ในงานเขียนผู้ว่าจ้างได้หักภาษีไว้ 3% จำนวน 150 บาท

ขั้นตอนการคำนวณ

1. รวมเงินได้ทั้งปี

ข้อ 1. เงินเดือน(ประเภทที่ 1) 25,000*12   = 300,000
ข้อ 2. ค่าเขียนคอนเทนต์(ประเภทที่ 2)       = 5,000

2. หักค่าใช้จ่าย

  • เงินได้ข้อ 1,2 เป็นเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 หักค่าใช้จ่ายรวมกันได้ 50%
รวมเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2                 = 305,000
ค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (305,000*50%)      = 152,500
เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย (305,000-100,000)     = 205,000

(เนื่องจากหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 ถึงแม้จะคำนวณค่าใช้จ่ายได้ 152,500 ก็สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เพียง 100,000 เท่านั้น)

3. หักค่าลดหย่อน

เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย                        205,000
หัก  ค่าลดหย่อนตนเอง                         60,000
    ค่าลดหย่อนประกันสังคม (750*12)             9,000

เงินได้สุทธิ                                136,000

4. นำเงินได้สุทธิมาคำนวณภาษี

เงินได้                0 - 150,000     =    ยกเว้นภาษี
ภาษีที่ต้องชำระ                          =    0
ภาษีที่ถูกหักและนำส่ง                      =    150
ภาษีที่ชำระเกิน (ขอคืนภาษี)                =    150

(เงินได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ชำระภาษี ดังนั้น ภาษีที่ถูกหักไปจำนวน 150 บาท สามารถขอคืนได้)

 

ตัวอย่างที่ 2 นายประวิทย์ ฟรีแลนซ์ผู้มีรายได้หลายช่องทาง

    นายประวิทย์ (โสด) มีรายได้ในปี 2560 จากหลายช่องทาง ดังนี้

    1.เงินเดือนประจำจากบริษัทแห่งหนึ่ง เดือนละ 120,000 บาท ถูกหักภาษีไว้เดือนละ 1,250 บาท และประกันสังคมอีก 9,000 บาท 2. มีรายได้จากการรีวิวสินค้า สกินแคร์สำหรับหนุ่มๆ วัยทำงาน ทั้งปี 780,000 บาท ถูกหักภาษีไว้ 23,400 บาท 3.รายได้รับตัดต่อ VDO 56,000 บาท 4. นอกจากนี้ยังมีโฮมออฟฟิศให้เช่าอีก 3 เดือน จำนวน 45,000 บาท  นายประวิทย์ยังได้ซื้อประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ 150,000 บาท อายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป  ซื้อกองทุนรวม LTF 50,000 บาท กองทุนรวม RMF 22,000 บาท ช้อปช่วยชาติจากห้างสรรพสินค้า จำนวน 17,422 บาท และปีนี้ยังได้รับหนังสือรับรองการจ่ายชำระเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคาร จำนวน 94,200 บาท (หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย)

ขั้นตอนการคำนวณ

1. รวมเงินได้ทั้งปี

ข้อ 1. เงินเดือน(ประเภทที่ 1) 120,000*12           = 1,440,000
ข้อ 2. เงินได้จากการริวิวสินค้า(ประเภทที่ 2)           = 780,000
ข้อ 3. เงินได้จากการรับตัดต่อ VDO(ประเภทที่ 2)        = 56,000
ข้อ 4. เงินได้จากการให้เช่าอาคาร(ประเภทที่ 5)        = 45,000

2. หักค่าใช้จ่าย

     – เงินได้ข้อ 1,2,3 เป็นเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 หักค่าใช้จ่ายรวมกันได้ 50%

รวมเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2                       = 2,276,000
ค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (2,276,000*50%)          = 1,138,000
เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย (2,276,000-100,000)         = 2,176,000

(เนื่องจากหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 ถึงแม้จะคำนวณค่าใช้จ่ายได้ 1,138,000 ก็สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เพียง 100,000 เท่านั้น)

     – เงินได้ข้อ 4 เงินได้จากการให้เช่าอาคาร (ประเภทที่ 5 หักค่าใช้จ่ายได้ 30%)

เงินได้ประเภทที่ 5                                 = 45,000
ค่าใช้จ่าย 30% ของเงินได้ (45,000*30%)              = 13,500
เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย  (45,000-13,500)             = 31,500

รวมเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด 2,176,000 + 31,500        =  2,207,500

3. หักค่าลดหย่อน

รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย                              2,207,500
หัก     ค่าลดหย่อนตนเอง                              60,000
       ประกันชีวิต                                  100,000
       ดอกเบี้ยเช่าซื้อเพื่อที่อยู่อาศัย                      94,200
       กองทุนรวม LTF                               50,000
       กองทุนรวม RMF                               22,000
       ประกันสังคม                                   9,000
       โครงการช้อปช่วยชาติ                           15,000

เงินได้สุทธิ                                      1,857,300

4. นำเงินได้สุทธิมาคำนวณภาษี

เงินได้       0 - 150,000                      = ยกเว้นภาษี
เงินได้ 150,001 - 300,000    (5%)( 150,000 )   = 7,500
เงินได้ 300,001 - 500,000    (10%)(200,000)    = 20,000
เงินได้ 500,001 - 750,000    (15%)(250,000)    = 37,500
เงินได้ 750,001 - 1,000,000  (20%)(250,000)    = 50,000
เงินได้ 750,001 - 2,000,000  (25%)(857,300)    = 214,325
ภาษีที่ต้องชำระ                                 = 329,325
ภาษีที่ถูกหักและนำส่งล่วงหน้า (1,250*12+23,400)    = 38,400
ภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม (329,325-38,400)             = 290,925

เมื่อคำนวณภาษีที่จะต้องจ่ายเป็นแล้ว ไปดูวิธีการยื่นภาษีกันต่อเลยค่ะ

 

ฟรีแลนซ์ต้องยื่นภาษีแบบไหน?

    ภ..90 คือ ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่มิใช่เงินเดือนอย่างเดียว หรือมีเงินได้ 2 ประเภท ขึ้นไป หรือสำหรับคนมีเงินเดือนและมีรายได้อื่นด้วยเช่น ปันผลจากกองทุนและหุ้น ขายที่ดินได้ หรือจากมรดกเป็นต้น

หมายเหตุ สำหรับฟรีแลนซ์ที่มีเงินเดือนและมีรายได้อื่นๆ ยื่น ภ.. 90 ยื่นภายในเดือน มี.ค ของปีถัดไป

    ภ..91 คือ ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ประเภท “เงินเดือน” อย่างเดียวให้ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของทั้งปี (ครั้งเดียว) ภายในเดือน มี.ค.ของปีถัดไป

    ภ..ด  94  คือ ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 40(5)-(8) (หมายถึงเงินได้ประเภท 5-8) ต้องยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของงวด .ค. – มิ.ย. ภายในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน (เป็นการเสียภาษีครึ่งปี สำหรับคนไม่มีเงินเดือน แต่มีรายได้ อย่างอื่นมาแทนเช่น ปันผลจากกองทุนและหุ้น ขายที่ดินได้)

สามารถยื่นภาษีได้ที่ไหน?

    มีหลายช่องทางให้เลือกตามความสะดวก แต่ Fastwork ขอแนะนำช่องทางที่เหมาะกับชาวฟรีแลนซ์มากที่สุดคือ การยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต สำหรับ ภ.ง.ด 90 /91 สามารถยื่นได้ทาง http://rdserver.rd.go.th  เฉพาะการยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตจะยื่นได้ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 9 เมษายน 61

ดูขั้นตอนการยื่นแบบออนไลน์ได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/558.0.html

ช่องทางการยื่นภาษีแบบอื่นๆ

    หากไม่สะดวกยื่นแบบออนไลน์ก็มีหลากหลายช่องทาง ดังนี้ http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/borkor/tax_return_190160.pdf

*หากยื่นแบบฯ ผ่านช่องทางอื่นๆที่ไม่ใช่ยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต จะสามารถยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี

     สำหรับคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ ที่อยากจะยื่นก่อนครึ่งปีก็ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 กลางปี และ ภ.ง.ด.90  ตอนสิ้นปีถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็จะได้รับเงินคืนค่ะ

วิธีการชำระภาษีมีอะไรบ้าง?

    เมื่อมีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม สามารถเลือกชำระได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินสด บัตรเครดิต/เดบิต ชำระด้วยเช็คหรือดราฟต์ หรือจะชำระด้วย ธนาณัติก็ได้ ซึ่งการชำระแต่ละรูปแบบมีวิธีการและเงื่อนไขแตกต่างกัน สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/560.0.html

 

ไม่ว่าเรื่องภาษีจะยุ่ง!หรือยากขนาดไหน ก็หวังว่าชาวฟรีแลนซ์ทุกคนจะผ่านไปได้นะคะ ❤️

 

 

Related Posts
This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.